วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity )




ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity )


ก่อนหน้านี้ บริษัทต่างๆประสบชัยชนะในสมรภูมิการตลาดด้วยประสิทธิภาพ หรือคุณภาพที่สูงกว่า แต่ทุกวันนี้กลับเป็นเรื่องขอบการใช้ “ความคิดสร้างสรรค์ที่เหนือกว่า” เดี๋ยวนี้การจะเอาชนะคู่แข่งได้ต้องพึ่งพาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่แค่เพียงความเหนือกว่าในแบบเดิมๆ บริษัทที่ประสบความสำเร็จ ล้วนมีความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งสิ้น

การจะมีความโดดเด่นที่มีเอกลักษณ์ขึ้นมาต้องอาศัยการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ยกย่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีวิธีการอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกัน เพื่อเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้กับองค์กร
1. ว่าจ้างบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์โดยธรรมชาติ และให้อำนาจควบคุมกับคนๆนั้นไป
2. กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรด้วยการใช้เทคนิคต่างๆที่ได้รับการทดสอบอย่างดี
3. ทำสัญญาจ้างองค์กรภายนอกเพื่อขอความช่วยเหลือด้านความคิดสร้างสรรค์ ติดต่อบริษัทดังๆเพื่อขอคำแนะนำในการหาแนวคิดที่แหวกแนว

บริษัทที่มองการณ์ไกลมักจะจัดตั้งศูนย์รวมความคิดขึ้นมา โดยกระตุ้นให้พนักงาน ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และตัวแทนของบริษัทร่วมกันให้คำแนะนำการลดค่าใช้จ่าย หรือขช่วยสร้างสินค้า คิดค้นคุณสมบัติ หรือบริการใหม่ๆขึ้นมา บริษัทเหล่านี้จะตั้งคณะกรรมการระดับสูงเพื่อรวบรวม ประเมิน และคัดเลือกแนวคิด รวมทั้งมอบรางวัลให้ผู้ที่เสนอแนวคิดที่ดีที่สุด

กล่าวกันว่าความคิดสร้างสรรค์อาจพุ่งถึงขีดสุดเมื่ออายุ 5 ขวบ หลังจากนั้นเด็กก็เริ่มจะสูญเสียสิ่งนี้ไปเมื่อเข้าโรงเรียน การศึกษาที่เน้นการเรียนรู้และการทำความเข้าใจตามสัญชาตญาณซึ่งอยู่ทางด้านสมองซีกซ้าย มีแนวโน้มทำให้สมองซีกขวาที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่ได้รับการพัฒนาที่เพียงพอ

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การสร้างแบรนด์องค์กร ( Corporate Branding )




การสร้างแบรนด์องค์กร (Corporate Branding)


การสร้างแบรนด์องค์กรที่เข้มแข็งย่อมให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมตามมา สิ่งที่เป็นลำดับแรกในการสร้างแบรนด์ก็คือ ต้องทำให้บริษัทมีนัยอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพ นวัตกรรม มิตรภาพ หรือ สิ่งอื่นๆ

แบรนด์องค์กรที่เข้มแข็งต้องอาศัยการสร้างภาพลักษณ์ในเรื่อง แนวคิดหลักที่ดี นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคำพาดหัว กราฟฟิก โลโก้ สีที่บ่งบอกความเป็นตัวเอง และเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณา อย่างไรก็ตามบริษัทไม่ควรพึ่งพาการโฆษณามากเกิน ภาพลักษณ์ทางธุรกิจสามารถสร้างขึ้นมาจากประสิทธิภาพ การดำ เนินงานของบริษัทมากกว่าสิ่งอื่นใด ผลการดำเนินงานที่ดี และการประชาสัมพันธ์ที่ดี ให้ผลลัพธ์มากกว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อโฆษณาองค์กร

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ที่ปรึกษา ( Consultants)




ที่ปรึกษา ( Consultants)


ที่ปรึกษามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือบริษัทประเมินถึงโอกาสต่างๆ ประเมินถึงกลยุทธ์ รวมไปถึงยุทธวิธีทางการตลาด ที่ปรึกษาจะทำหน้าที่ในการนำเสนอมุมมองจากภายนอกที่มองเข้าไปภายในองค์กร เพื่อแก้ไขมุมมองขององค์กรที่มองออกไปภายนอกให้ถูกต้อง

กระนั้นก็ตาม ผู้บริหารบางคนอาจกล่าวว่า “ถ้าเราประสบความสำเร็จ เราก็ไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา หรือในกรณีที่เราไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ไม่มีเงินจ้างอยู่ดี”

เราต้องการที่ปรึกษาจำนวนน้อยกว่าเดิมแต่ต้องการผลลัพธ์มากขึ้นกว่าเดิม ที่ปรึกษาจำนวนมากให้คำแนะนำเรื่องต่างๆ แต่ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งทางที่ดีเมื่อเราพูดกันถึงการดำเนินงานตามคำแนะนำดังกล่าว เราควรใช้วิธีจ่ายค่าตอบแทนให้กับที่ปรึกษาตามผลงานที่ได้รับ

นี่เป็นแบบทดสอบในการมองหาที่ปรึกษาที่ดี เริ่มจากการยิงคำถามใส่ที่ปรึกษาแต่ละรายว่า “กี่โมงแล้ว”
• รายแรก บอกว่า “9โมงเช้า” จ้างรายนี้ได้เลย ถ้าต้องการผลการศึกษาที่เที่ยงตรง ข้อมูลครบถ้วน
• รายที่สอง ตอบว่า “คุณอยากให้เป็นเวลากี่โมงหล่ะ” จ้างคนนี้ได้เลย ถ้าต้องการเพียงแค่แรงสนับสนุน แต่ไม่ต้องการคำแนะนำอื่นๆ
• รายที่สาม ตอบว่า “ทำไมถึงอยากรู้หล่ะ” เลือกรายนี้ ถ้าต้องการความคิดริเริ่มใหม่ๆ เช่น การนิยามปัญหาอย่างพินิจพิเคราะห์

มีความรู้สึกกังวลสงสัยต่อที่ปรึกษาอยู่มากมาย ความกังขาเช่นนี้มีความหมายง่ายๆ ว่า มีที่ปรึกษาทั้งที่ดีและไม่ดี งานของเราก็คือ ต้องแยกให้ออกว่าคนไหนดี หรือไม่ดี ที่เราจะเลือกมาเป็นที่ปรึกษา

วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คู่แข่งขัน (Competitors)




คู่แข่งขัน (Competitors)


ทุกบริษัทมีคู่แข่งด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีอยู่เพียงสายการบินเดียว แต่สายการบินแห่งนั้นก็ต้องวิตกกังวลกับการเดินทางโดยรถไฟ รถโดยสาร รถยนต์ จักรยาน และกระทั่ง ผู้คนที่อาจจะชอบมุ่งหน้าสู่ที่หมายด้วยการเดิน

ยิ่งบริษัทประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นเท่าน้น ในแทบทุกธุรกิจจะมีทั้งนักล่าปลาวาฬ ปลาฉลาม ปลาสิวปลาสร้อยอยู่มากมาย ในน่านน้ำแห่งการแข่งขันนี้ ทางเลือกก็คือจะล่าเหยื่อ หรือ จะยอมตกเป็นเหยื่อแทน

อย่างไรก็ตาม หวังว่าบริษัทของเราจะดึงดูดเฉพาะคู่แข่งขันที่ดีๆเท่านั้น มีคู่แข่งขันที่ดีก็เหมือนได้พรอันประเสริฐ เพราะคู่แข่งเหล่านี้จะเป็นเหมือน “ครู” ที่ช่วยพัฒนามุมมองและขัดเกลาทักษะของเรา ต่างจากคู่แข่งระดับกลางๆ ที่บางครั้งก็น่ารำคาญ เช่นเดียวกับคู่แข่งแย่ๆ ที่สามารถสร้างความลำบากใจให้บริษัทดีๆได้

บริษัทไม่ควรเพิกเฉยต่อคู่แข่ง แต่ต้องตื่นตัวเสมอ รวมไปถึงพันธมิตรของเราที่ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ถ้าเราคิดว่าจะเป็นคู่แข่งขันที่ทรงประสิทธิภาพ เราก็ต้องเป็นเพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยม เราไม่ได้เป็นแค่หน่วยธุรกิจ แต่เป็นหุ้นส่วน เป็นเครือข่ายเป็นองค์กรที่ต้องการขยายขอบเขตออกไป การแข่งขันในทุกวันนี้เป็นการแข่งขันระหว่างเครือข่าย ไม่ใช่บริษัท เครือข่ายที่มีความสามารถในการจับจุด เรียนรู้ และทำงานได้เร็วกว่า เป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการแข่งขัน

ในระยะสั้น คู่แข่งที่น่ากลัวที่ของเราก็คือ องค์กรที่เหมือนบริษัทของเรามากที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะลูกค้าไม่อาจเห็นถึงความแตกต่างได้ ในความคิดของลูกค้า บริษัทของเราก็เหมือนกับบริษัทอื่นๆ เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างความแตกต่างให้ได้

วิธีเอาชนะคู่แข่ง คือ เราต้องจู่โจมตัวเราเองก่อน ทำงานให้หนักเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแทนสินค้าที่อยู่ในสายการผลิตเดิม ก่อนที่คู่แข่งจะทำให้สินค้าของเราเป็นของที่ล้าสมัยไป

จับตาดูคู่แข่งที่อยู่ไกลออกไปเช่นเดียวกับคู่แข่งที่อยู่ใกล้ๆ เพราะบริษัทเราอาจจะถูกกลืนหายไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆมากกว่าคู่แข่งที่ทำอะไรเหมือนเราทุกอย่าง การแข่งขันที่ชี้เป็นชี้ตายส่วนใหญ่มักจะมาจากบริษัทเล็กๆที่ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนกฎเกณฑ์การแข่งขัน IBM เดินเกมผิดพลาดไป เพราะมัวไปกังวลกับ ฟูจิสึ มากกว่าบุคคลโนเนมอย่าง บิล เกตส์ ซึ่งสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นมาในโรงรถของตัวเอง

การจับตาดูคู่แข่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่การมุ่งมั่้นต่อลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า เพราะลูกค้าเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้ชนะสงครามธุรกิจไม่ใช่คู่แข่ง ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเสียศูนย์ เพราะมีคนหาปลาจำนวนมากที่ออกล่าฝูงปลาฝูงเล็กๆ ชาวประมงที่เยี่ยมที่สุดเข้าใจธรรมชาติของปลาได้ดีกว่าคู่แข่ง